สมาคมเพื่อนชุมชน จับมือภาคีโซนมาบตาพุด บ้างฉาง จัดประชุมเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม เชิงรุกฯต่อเนื่อง...
สมาคมเพื่อนชุมชน จับมือภาคีโซนมาบตาพุด บ้านฉาง
จัดประชุมเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุกฯ ต่อเนื่อง
สมาคมเพื่อนชุมชน ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของ 5 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในมาบตาพุด
คอมเพล็กซ์ จ.ระยอง ได้แก่ กลุ่ม ปตท. เอสซีจี โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี กลุ่ม บ.ดาวประเทศไทย และกลุ่มจีพีเอสซี เพื่อสร้างความร่วมมือของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในมาบตาพุดที่รวมตัวกันเป็นครั้งแรกและแห่งเดียว
ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมประสานและพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยความจริงใจ จริงจัง มุ่งมั่นแก้ปัญหาร่วมกัน ถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ด้วยการดูแลเอาใจใส่ชุมชน ทั้งในด้านการส่งเสริมพัฒนา
ด้านสุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจฐานราก และด้านสังคม จากความร่วมแรง ร่วมมือและร่วมใจของผู้ประกอบการนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่จริงจังและยั่งยืนต่อชุมชน อุตสาหกรรมและประเทศชาติต่อไป
นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเพื่อนชุมชน ร่วมกับ ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จัดประชุม "เครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุก กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม พื้นที่มาบตาพุดคอมแพล็กซ์" มุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายในการดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และโรงเรียน ในพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด และพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล และเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งพัฒนาให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดข้อขัดแย้ง เกิดความร่วมมือกันในทุกๆ ด้าน ระหว่างผู้ประกอบการและประชาชน
2.เพื่อเป็นมาตรฐานและแนวทางในการติดต่อสื่อสาร ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้ รับทราบบทบาทหน้าที่ และยกระดับการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมจากเชิงรับเป็นเชิงรุก
3.เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการสื่อสารและมีแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการ รวมถึงชุมชนในพื้นที่ โดย
(1)โรงงานแบ่งพื้นที่ดูแลรับผิดชอบในการเฝ้าระวังร่วมกันในกลุ่มเครือข่าย กระจายตามแต่ละนิคมฯ
(2)โรงงานลงพื้นที่ทำการตรวจสภาพแวดล้อมตามพื้นที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้าน เสียงรบกวน แหล่งน้ำสาธารณะ ฝุ่น ควัน ฯลฯ
(3)ประชุมติดตามผลการตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อม และซ้อมทบทวนตามแผนอย่างต่อเนื่อง
(4)ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปัจจุบันคณะทำงานฯ ได้พัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในกรณีปกติ และกรณีฉุกเฉิน เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพเชิงป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายชุมชน ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมเชิงรุกในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุด” เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุข เกื้อกูลซึ่งกันและกันต่อไป...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น