ศน.ส่งเสริมธรรมะสู่ใจประชาชน นำวิปัสสนาเยียวยาจิตใจให้สงบร่มเย็น.

ศน. ส่งเสริมธรรมะสู่ใจประชาชน นำวิปัสสนาเยียวยาจิตใจให้สงบร่มเย็น...


   นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) เปิดเผยว่า เมื่อโลกก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัล วัตถุ เทคโนโลยีต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด ช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบาย คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่คุณภาพของจิตกลับลดลง การปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนาเป็นหนึ่งในแนวทางที่มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาสมรรถนะของจิต ให้จิตเกิดความสงบ มั่นคง เข้มแข็ง มีภูมิต้านทานต่อสภาวการณ์ต่างๆ บุคคลที่สามารถสร้างสมาธิให้มีขึ้นในตนได้จะทำให้ทุกชีวิตในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขร่มเย็น ซึ่งที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญหรือบุญกิริยาวัตถุ 3 อย่าง ประกอบด้วย 1. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน 2. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล 3. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา (ปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนา) และนับเป็นวิธีการสร้างบุญบารมีที่มีอานิสงส์มากที่สุดในพระพุทธศาสนา
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2566 กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมกับภาคคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จัดกิจกรรมวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล ภายใต้โครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อคนทั้งมวล ระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน พ.ศ. 2566 เพื่อนำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรม เสริมสร้างคนดี สังคมดี โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพให้เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส และคนในกระบวนการยุติธรรม เป็นคนดีของสังคม มีทัศนคติที่ถูกต้องตามหลักธรรม ยึดมั่นในหลักคำสอนทางศาสนาที่ตนเคารพนับถือ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และร่วมสืบสานประเพณี วิถีวัฒนธรรมอันดีงาม และร่วมสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมคุณธรรม” พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้วัด ศาสนสถาน สถานศึกษาและเครือข่ายต่าง ๆ นำหลักการปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนาไปช่วยพัฒนาสมรรถนะทางจิตให้สงบ มั่นคง มีสติ และนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยในส่วนกลางขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและผู้ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค กรมการศาสนาได้สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร่วมเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 23 จังหวัด ได้แก่ 1. วัดสมานรัตนาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา 2. วัดบึงบวรสถิตย์ จังหวัดชลบุรี 3. วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ จังหวัดเชียงราย 4. วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 5. ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาจุฬาอาศรม จังหวัดนครราชสีมา 6. วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช 7. วัดคีรีวงศ์ จังหวัดนครสวรรค์ 8. วัดปัญญานันทาราม จังหวัดปทุมธานี 9. วัดเกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 10. วัดตาลเอน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 11. วัดวังหิน จังหวัดพิษณุโลก 12. จังหวัดภูเก็ต วัดมงคลวราราม 13. วัดหนองทุ่ม จังหวัดมหาสารคาม 14. วัดป่าถ้ำวัว จังหวัดแม่ฮ่องสอน 15. วัดบูรพาราม จังหวัดยโสธร 16. วัดบ้านกุ่ม จังหวัดราชบุรี 17. วัดเนรมิตวิปัสสนา จังหวัดเลย 18. วัดป่าโนนขุมเงิน จังหวัดสกลนคร 19. วัดวังชัยทรัพย์วิมล จังหวัดสมุทรสาคร 20. วัดสุนทรนิวาส จังหวัดสุราษฎร์ธานี 21. วัดจันทร์ จังหวัดอ่างทอง 22. วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี 23. วัดโพนขวาว จังหวัดอำนาจเจริญ
    การจัดกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินงานภายใต้นโยบาย 9 ดี 12 เดือน 12 เด่น นำธรรมะสู่ใจประชาชน เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สอนหลักวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้อง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีการปฏิบัติกรรมฐาน 40 วิธี ไว้เป็นหลักเกณฑ์ทำให้ใจสงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตใจสงบเป็นสมาธิ แน่นหนามั่นคง ดำรงอยู่ในสัมมาสมาธิแล้วจึงดำเนินงานทางด้านวิปัสสนา พิจารณาถึงอริยสัจ 4 พิจารณาด้านปัญญา เพื่อดัดแปลงและชำระล้างจิตใจซึ่งมีความเห็นผิดให้เข้าสู่ความจริงตามหลักธรรม การปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนาด้วยความเพียรอันสมควรแล้วส่งผล ดังนี้ 1. จิตใจสามารถกำจัดกิเลสต่างๆ หรือทำให้เบาบางลง อันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ 2. มีความทุกข์น้อยลง และมีความสุขมากขึ้น 3. จิตใจมีคุณธรรม หรือมีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการศาสนา www.dra.go.th หรือ โทร. 0 2209 3521 ได้ในวัน เวลาราชการ และในส่วนภูมิภาคสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ วัดและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดดังกล่าว...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)คนใหม่...

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมร่วมเปิดตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยฟอร์มยักษ์แห่งปี "นักรบมนตรา ตำนานแปดดวงจันทร์ "

ททท.สนง.ขอนแก่นขอเชิญชมเทศกาลดนตรี ฯ.....