มช.จับมือเอกชนพัฒนาน้ำยาชนิดเอนไซม์ล้างเครื่องมือแพทย์-คุณภาพเทียบเท่าตปท.

มช.จับมือเอกชนพัฒนาน้ำยาชนิดเอนไซม์
ล้างเครื่องมือแพทย์-คุณภาพเทียบเท่าตปท.

กองทุน ววน. สนับสนุนทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จับมือบริษัทเอกชนพัฒนาน้ำยาล้างทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ชนิดเอนไซม์ คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ ขจัดคราบไบโอเฟิร์ม ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ป่วย พร้อมเชื่อมข้อมูลการทำความสะอาดเข้ากับระบบและนวัตกรรมการบริหารจัดการแผนกจ่ายกลางอย่างยั่งยืนซึ่งติดตั้งในโรงพยาบาลแล้วหลายแห่ง ลดการนำเข้าได้มากกว่า 50%
รศ. ดร. ภก.เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงผลงานการวิจัยและพัฒนาน้ำยาทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ชนิดเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์นำเข้ามาจากต่างประเทศ ว่าน้ำยาดังกล่าวมีจุดเด่นที่สามารถขจัดคราบไบโอฟิล์มซึ่งเป็นสารที่เชื้อก่อโรคที่ดื้อยาปฏิชีวนะผลิตออกมาห่อหุ้มเชื้อก่อโรคไว้ ป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ป่วย รวมทั้งทำให้เกิดความรวดเร็วในการวินิจฉัยและการรักษาโรคมากขึ้น
ผลงานดังกล่าวทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับบริษัท โพสเฮลท์แคร์ จำกัด โดย ภก. ดร.พิสิฐ อุ่ยรุ่งโรจน์ และนายธีรภัทร์ อุ่ยรุ่งโรจน์ ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้การสนับสนุนทุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และการต่อยอดเพื่อจัดทำมาตรฐานความสอดคล้องในทวีปยุโรปจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS พร้อมกับร่วมงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมด้านการแพทย์ในงาน MEDICA 2022 ณ เมืองดุสเซลดอร์ฟ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี งาน Arab Health 2022 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 (TRIUP FAIR 2023) ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 
 นักวิจัยระบุว่า กระบวนการล้างและทำไร้เชื้อเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการใช้งานแล้วเพื่อให้ปราศจากจากปนเปื้อนของสารก่อโรคและจุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งดำเนินการโดยแผนกจ่ายกลางของโรงพยาบาล ต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะ เนื่องจากมีข้อกำหนดหรือมาตรฐานต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ต้องสามารถขจัดคราบสารคัดหลั่ง โปรตีน และสารปนเปื้อนอื่น ๆ ที่ติดมากับเครื่องมือแพทย์ออกได้ และไม่มีผลกระทบต่อระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้มีราคาสูงเพราะต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด 
ผลิตภัณฑ์ที่วิจัยและพัฒนาขึ้น ได้ผ่านกระบวนการผลิตในโรงงานที่ได้การรับรองมาตรฐาน ISO13485 และ ISO9001 รวมถึงผ่านการทดสอบการใช้งานจริงในแผนกจ่ายกลางของโรงพยาบาลอย่างน้อย 5 แห่ง ซึ่งพบว่าสามารถกำจัดคราบไบโอฟิล์มที่ผลิตจากเชื้อก่อโรค Staphylococcus aureus, Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, และ Candida albicans และผ่านการทดสอบตามข้อกำหนดมาตรฐาน ISO15883-5 ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โรงพยาบาลทุกระดับสามารถจัดซื้อได้ในกรอบงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงช่วยขับเคลื่อนคุณภาพและมาตรฐานของแผนกจ่ายกลาง รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อก่อโรคของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เพิ่มเสถียรภาพด้านสาธารณสุขของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
ขณะนี้ต้นแบบน้ำยาล้างทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว และสามารถเชื่อมต่อข้อมูลการทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ในแต่ละรอบของการล้างกับระบบและนวัตกรรมการบริหารจัดการแผนกจ่ายกลางอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ บพข. ทำให้ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแผนกจ่ายกลางได้อย่างสมบูรณ์ โดยปรับระบบให้เข้ากับบริบทหรือการทำงานของแผนกจ่ายกลางในแต่ละแห่งได้ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานโรงพยาบาลทั้งในระดับชาติและระดับสากล อีกทั้งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าระบบที่นำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 50 ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบและใช้งานในแผนกจ่ายกลางในโรงพยาบาลแพทย์หลายแห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่อีกหลายแห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ รวมถึงวางแผนงบประมาณจัดซื้อและซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์ได้เป็นอย่างดี...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)คนใหม่...

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมร่วมเปิดตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยฟอร์มยักษ์แห่งปี "นักรบมนตรา ตำนานแปดดวงจันทร์ "

ททท.สนง.ขอนแก่นขอเชิญชมเทศกาลดนตรี ฯ.....